วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สมัยประวัติศาสตร์














สมัยประวัติศาสตร์

มนุษย์ เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ เมื่อเริ่มรู้จักประดิษฐ์ตัวอักษร ทำให้ปรากฏหลักฐานต่างๆในการศึกษาร่องรอยอารายธรรมต่างๆในอดีต ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ วิถี ความเชื่อ ความเป็นอยู่เริ่มมีแบบแผนที่ชัดเจนขึ้น อารยธรรมต่างๆ ที่ปรากฏส่วนหนึ่ง สืบทอดแบบแผนมาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ แล้วมีการนำมาปรับใช้ ในช่วงระยะเวลาสมัยประวัติศาสตร์นี้ จะเห็นว่า อารยธรรมของมนุษย์ที่สร้างขึ้นล้วนแต่เป็นรากฐานของอารยธรรมรุ่นต่อมาๆ ในระยะเวลาดังกล่าวนี้พอจะสังเขป อารายธรรมที่เกิดขึ้นในระยะเวลาดังกล่าวได้ดังนี้
อารยธรรมลุ่มน้ำ

ตามลุ่มน้ำต่างๆที่ดังจะกล่าวต่อไป เป็นแหล่งก่อเกิด สายธารแห่งอารยธรรมของมนุษย์ ที่มีการสั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อแหล่ง อารายธรรมตามลุ่มน้ำเสื่อมสลายลงไปอาจด้วยปัจจัยตามกาลเวลา หรือทางการเมือง แต่ร่องรอยของอารายธรรมลุ่มน้ำกลับมิได้เสื่อมสลายลงไปด้วย แต่ยังคงปรากฏคติ ความเชื่อ ถ่ายทอดให้กับมนุษย์ในรุ่นต่อมาๆ ได้แก่

อารยธรรมลุ่มน้ำไทรกรีส – ยูเฟรติส

อารยธรรมลุ่มน้ำไทกรีส –ยูเฟรติส หรือที่เราเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia civilization) ดังปรากฏตามที่ชาวกรีก เรียกว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำ ( Mavin Perry, 1981 : 8) ซึ่งกคือ แม่น้ำไทกรีส และแม่น้ำยูเฟรติส เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนรูปครึ่งวงกลมผืนใหญ่ ซึ่งทอดโค้งขึ้นไปจากฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอ่าวเปอร์เซีย เรียกว่า “ดินแดนรูปพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์” (Fertile Crescent) ปัจจุบัน คือ ประเทศอิรัก กลุ่มชนที่สร้างอารยธรรมให้แก่ เมโสโปเตเมีย คือ ชาวสุเมเรียน (Sumerians) ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมโสโปเตเมียเมื่อ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อ 6,000 ปีมานี้ และกลุ่มชนที่อยู่ต่อมา คือ ชาวอัคคาเดียน (Akkadians) ชาวอามอไรต์ (Amorites) ชาวอัสซีเรียน (Assyrians) และชาวแคลเดียน (Chaldeans) เป็นต้น

อารยธรรมอียิปต์ (Egypt Civilization)

เกิดขึ้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์แห่งเดียวในทวีปแอฟริกา รากฐานของอารยธรรมอียิปต์ ก่อเกิดมาจากลุ่มน้ำไนล์อันน้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชาวอียิปต์ทั้งมวล ( Raymond Grew , 1979 : 13) ข้อมูลของอียิปต์อ่านได้จากจารึกตามเสาวิหาร ด้วยตัวอักษรภาพ ที่เรียกว่า ตัวอักษร เฮียโรกลิฟิก (hieroglyphics) และการบันทึกเรื่องราวบนกระดาษปาปิรุส (papyrus) มีกษัตริย์หรือฟาโรห์ (Pharoah) เป็นผู้ปกครอง ในสมัยราชอาณาจักรอียิปต์

อารยธรรมอินเดีย (Indian Civilization)

เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ จึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Civilization) อารยธรรมอินเดียถือเป็นแม่แบบของอาณาจักรต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ทวารวดี ล้านนา ล้านช้าง พระนคร เป็นต้น การขุดค้นทางด้านโบราณคดี ได้พบซากเมืองฮารัปปา (Harappa) และเมือง โมเฮนโจดาโร (Mohenjo-Daro) อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุประกอบด้วย ชนพื้นเมืองที่เรียกว่า พวกดราวิเดียน (Dravidians) ภายหลังจึงมีชนชาติอารยันซึ่งเป็นพวกอินโดยุโรเปียน อพยพจากแถบทะเลสาบแคสเปียน เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุเมื่อปี 1,500 ก่อนคริสตกาล ชนกลุ่มนี้มีประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อถือ และระเบียบแบบแผนการปกครองของตนเอง อารยธรรมของพวกอารยันบางส่วนถูกผสมผสานเข้ากับอารยธรรมดั้งเดิมของดราวิเดียน แต่อาจสรุปได้ว่า อารยธรรมอารยันเป็นพื้นฐานสำคัญของอารยธรรมมาจนถึงปัจจุบัน

อารยธรรมจีน (Chinese Civilization)

ถือกำเนิดขึ้นแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห เมื่อประมาณ 3,500 ปีมานี้ อารยธรรมจีนถือเป็นแม่แบบของอารยธรรมในเอเชียตะวันออกเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และดินแดนอื่นๆ จีนมีพัฒนาการของมนุษย์และวัฒนธรรมประเพณีต่อเนื่องมาไม่ขาดสาย ชาวจีนในปัจจุบันยังคงได้รับอิทธิพลความคิดและความเชื่อถือของสมัยโบราณ สังคมจีนเป็นสังคมที่เด่นในแง่ของการมีกฎ ระเบียบที่แน่ชัด มั่นคง ได้ชื่อว่าเป็นชาติที่เพียบพร้อมด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวจีนโบราณส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตและกรอบความคิดที่ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่กล้าท้าทายให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในสังคม โครงสร้างทางสังคมมีความมั่นคงและหยุดนิ่ง ตามความคิดและความเชื่อของชาวจีนเชื่อในเรื่องวิญญาณและสวรรค์ การบูชาบรรพบุรุษเป็นสิ่งสำคัญในอารยธรรมจีน ที่มีจุดเชื่อมโยงมาจากความเชื่อวิญญาณ สวรรค์ถูกโยงมาเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องจักรพรรดิที่มีคุณธรรมว่า ทรงเป็นโอรสแห่งสวรรค์ ( son of heaven) ที่ได้รับอาณัติจากสวรรค์(เทียนมิ่ง) ให้มาทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง นอกจากนี้ ชาวจีนยังมีความคิดเรื่องมูลธาตุดั้งเดิมของจักรวาล โดยเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ในสากลจักรวาลเกิดมาจากธาตุคู่ คือ ธาตุอ่อนกับธาตุแข็ง เรียกธาตุคู่นี้ว่า ยิ้น ซึ่งเป็นธาตุดินและเป็นธาตุอ่อน กับ หยาง ซึ่งเป็นธาตุฟ้าและเป็นธาตุแข็ง เมื่อธาตุทั้งสองนี้ผสมกันก็เกิดเป็นสิ่งต่างๆ ในจักรวาลขึ้น โลกและสิ่งต่าง ๆ ในโลกล้วนแต่เกิดมาจากมูลธาตุเดิมทั้งสองนี้ สิ่งต่าง ๆ ในโลกจึงมีลักษณะเป็นคู่ เช่น หญิงกับชาย ดีกับชั่ว เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น