วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนับเป็นก้าวแรกของมนุษย์ ที่ได้มีการพยายามรวมกลุ่มกันทางสังคม เพื่อเป็นการ สร้างการเอาตัวรอด ในช่วงเวลาดังกล่าวชุมชนมนุษย์ยังรวมตัวกันไม่มากนักลักษณะทางสังคม และการปกครอง มีผู้นำชุมชน เป็นผู้ที่มีความแข็งแรง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ในสังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด ผู้นำที่เข้มแข็ง สามารถนำกลุ่มคนในการแสวงหาอาหาร การล่าสัตว์ จึงมีความสำคัญ ดังนั้น ผู้นำที่มีความแข็งแรง จึงมีความเหมาะสมสังคมแบบดังกล่าว

ในระยะเวลานี้ แม้มนุษย์จะยังอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง อาศัยอยู่ตามถ้ำ เชิงผาต่างๆ แต่ต่อมา เริ่มมีการตั้งที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งมากยิ่ง ขึ้น เช่น การรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน ตามแหล่งน้ำ และสร้างอารยธรรมในแบบของตนขึ้น เช่น เริ่มมีการปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์แทนการออกล่าสัตว์ ทำให้สามารถกะปริมาณอาหารในการหล่อเลี้ยงชุมชนได้ เมื่อมีการรวมกันเป็นหลักแหล่งแล้ว มนุษย์จึงเริ่มที่จะสร้างพิธีกรรมต่างๆเพื่อเป็นกระบวนการควบคุมทางสังคม และเพื่อการอยู่รอด เช่นการร้องขอฟ้าฝน หรือวิญญาณ บรรพบุรุษ ให้คุ้มครองชุมชน และประทานน้ำฝน เพื่อใช้หล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้ เราสมามารถแบ่งออกเป็นยุคต่างๆได้ดังนี้

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Pre-historic Age) หมายถึง ยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ ได้มีการแบ่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคย่อยๆ โดยพิจารณาจากประเภทของวัสดุและความสามารถในการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธเป็นเกณฑ์ ดังนี้

1. ยุคหินเก่า (Paleolithic or Old Stone Age) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2,000,000 – 8,000 ปีก่อนคริสตกาล มนุษย์ยุคนี้เป็นพวกเร่ร่อนล่าสัตว์ป่าเป็นอาหาร รู้จักทำเครื่องมือเครื่องใช้อย่างหยาบๆ ด้วยหิน ไม้ กระดูก และเขาสัตว์ อาศัยอยู่ตามถ้ำ อยู่กันเป็นครอบครัว เป็นระบบเครือญาติ ชุมชนอย่างแท้จริงยังไม่เกิดขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจแบบแสวงหาอาหารไม่เอื้ออำนวย องค์กรทางการเมืองการปกครองยังไม่เกิดมีขึ้น สังคมมีสภาพเป็นอนาธิปัตย์ ผู้ที่มีอำนาจคือผู้ที่มีความแข็งแรงมากกว่าคนอื่น

2. ยุคหินใหม่ (Neolithic or New Stone Age) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 8,000 – 4,000 ปี ก่อนคริสตกาล ในยุคนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ 4 ประการ คือ มีการคิดค้นการเพาะปลูกข้าวเป็นครั้งแรก เริ่มต้นการเลี้ยงสัตว์ รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา และการประดิษฐ์อาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้จากหิน โดยขัดให้เรียบ สามารถใช้ประโยชน์ได้ง่ายและ มีประสิทธิภาพ พื้นฐานทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็น ผู้เสาะแสวงหาอาหาร (food-gatherer) มาเป็นผู้ผลิตอาหาร (food-producer) โดยพบหลักฐานว่ามีการเพาะปลูกข้าวเป็นครั้งแรกที่เมืองจาร์โม (Jarmo) ทางภาคเหนือของเมโสโปเตเมีย เมื่อประมาณ 6,750 ปีก่อนคริสตกาล มนุษย์เริ่มรู้จักการชลประทานอย่างง่ายๆ ทำอ่างเก็บน้ำ ทำนบกั้นน้ำ และพยายามเรียนรู้ที่จะควบคุมธรรมชาติ และแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติ การผลิตเครื่องปั้นดินเผาชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เริ่มสะสมอาหารไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภค เมื่อมนุษย์ยุคหินใหม่เปลี่ยนชีวิตจากการเป็นนักล่าสัตว์มาเป็นกสิกร วิถีการดำรงชีวิตก็เปลี่ยนจากการเร่ร่อนมาเป็นการตั้งหลักแหล่งอยู่กับที่ มีการสร้างบ้านเรือนอยู่อย่างถาวรในบริเวณที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จากครอบครัวหลายครอบครัวกลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ เกิดเป็นสังคมชนเผ่า (tribal societies) คนในสังคมจะมีภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมเดียวกัน และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ทำให้เกิดกฎหมายและกฎข้อบังคับในหมู่บ้านขึ้น มีหัวหน้าปกครอง หมู่บ้านกสิกรเหล่านี้เองคือชุมชนแห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นสังคมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานมา อยู่ที่เขตตะวันออกกลางแถบประเทศตุรกี ซีเรีย อิสราเอล อิรัก อิหร่าน และอียิปต์ ในปัจจุบันเมื่อชุมชนของมนุษย์มีขนาดใหญ่โตขึ้น ก็เกิดมีบ้านเมืองตามลุ่มแม่น้ำใหญ่ๆ พร้อมกับสร้างสรรค์อารยธรรมของตนขึ้นมา

3. ยุคโลหะหรือยุคสำริด (Metal Age) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,000 – 2,000 ปีก่อนคริสตกาล เริ่มจากมนุษย์รู้จักใช้ทองแดงและสำริดมาประกอบเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับ มนุษย์สมัยนี้พัฒนากิจกรรมการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านความเป็นอยู่ของสังคมและการเมืองอย่างมาก ได้เปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่จากชุมชนกสิกรรมขนาดใหญ่มาเป็นเมืองอย่างแท้จริง คือ เมืองเป็นศูนย์กลางของการกสิกรรม การปกครองและสังคมในเวลาเดียว ผู้ที่อยู่ในเมืองมิได้มีแต่พวกกสิกรเท่านั้น แต่ยังมีช่างฝีมือ นักรบ และพระผู้ทำหน้าที่ปกครองบริหารเมือง

ในยุคสำริด สังคมขยายตัวมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีคนที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันหลายด้าน เช่น พระทำหน้าที่เซ่นสรวงบูชา ติดต่อกับเทพเจ้าให้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชุมชน กษัตริย์ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง เป็นต้น โครงสร้างความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่เคยเป็นมาแต่เดิมจะเปลี่ยนไปเป็นโครงสร้างที่อาศัยอาชีพและตำแหน่งหน้าที่ เป็นเกณฑ์ในการกำหนดกลุ่มคนและความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งมักแบ่งออกได้ดังนี้ คือ ชนชั้นสูง ได้แก่ พระ ขุนนาง กษัตริย์ นักรบ ชนชั้นกลาง ได้แก่ พ่อค้า ช่างฝีมือ ชาวนา และชนชั้นต่ำ ได้แก่ ทาส การแบ่งงานและหน้าที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิต คือ แต่ละคนทำงานตามความถนัด ซึ่งจะได้งานมากขึ้นจนกลายเป็นส่วนเกินไว้แลกเปลี่ยน เกิดมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน มนุษย์สมัยนี้เริ่มรู้จักใช้ภาพสื่อความเข้าใจกัน เป็นต้นกำเนิดของการประดิษฐ์ตัวอักษร ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยไปสู่ยุคประวัติศาสตร์ มีการรวมกลุ่มเป็นชุมชนเมืองซึ่งจะพัฒนาไปสู่นครรัฐ มีการคิดค้นและใช้เทคโนโลยีง่ายๆ เช่น การใช้ลูกล้อในการขนส่งทางบกและในพลังงานจักรกล การใช้คันไถไม้ และเริ่มการเดินเรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น