วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สงครามเย็น



สงครามเย็น (Cold War)

สงครามเย็น เป็นสภาพของการเมืองระหว่างประเทศหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนับตั้งแต่ระยะสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา ซึ่งความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในเวลานั้น โลกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายเสรีประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกา และค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต ทั้งสองค่ายมีความแตกต่างกันทั้งในระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจและสภาพสังคม ต่างฝ่ายต่างพยายามต่อสู้เพื่อขัดขวางอำนาจของกันและกันโดยใช้วิธีต่างๆ ยกเว้น การทำสงครามโดยเปิดเผย จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นสภาพที่ไม่มีทั้งสงครามและสันติภาพ ทำให้ความตึงเครียดระหว่างโลกทั้ง 2 ฝ่าย ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนกลายเป็น “สงครามเย็น” (Cold War) ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวดำเนินมา 4ทศวรรษ ( 1945 –1990) และจุดสิ้นสุด เกิดขึ้นเมื่อ สหภาพ โซเวียตปฏิรูปประเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ นายมิคาอิว กอร์บาชอฟ ขึ้นมาเป็นผู้นำ ได้ประกาศแนวนโยบายกลาสน็อต (Glasnost) และเปเรสทรอยก้า (Perestroika) โดยเปิดประเทศเข้าสู่ระบบเสรี ปรับเศรษฐกิจให้เอกชนเข้าไปประกอบธุรกิจ การผลิตและการขายให้เป็นไปตามหลักการเสนอและสนอง ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการรับข่าวสารข้อมูล ลดกำลังทหารและกองกำลังภายนอกประเทศ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานและประเทศในยุโรปตะวันออก การปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มผู้นำคอมมิวนิสต์หัวเก่า จนเกิดการปฏิวัติขึ้นแต่ล้มเหลว ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์หมดอำนาจ ส่งผลทำให้แลตเวีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ซึ่งเป็นรัฐทางทะเลบอลติกประกาศเอกราช ไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ต่อมารัฐต่างๆแยกตัวเป็นอิสระปกครองตนเอง มีผลทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 ส่วนสาธารณรัฐรัสเซียภายใต้การนำของ นายบอริส เยลท์ซิน ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย ประเทศบริวารของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออก เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างแยกตัวเป็นอิสระ หลายประเทศปรับเปลี่ยนการปกครองมาเป็นแบบประชาธิปไตย จากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ส่งผลให้มีการสลายตัวขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ องค์การโคมีคอน เมื่อเยอรมนีตะวันออกเปลี่ยนตัวผู้นำ ได้มีการทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน นับเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดสงครามเย็น มีผลทำให้ประชาชนของเยอรมนีทั้งสองประเทศเดินทางเข้าออกได้อย่างอิสระ นำไปสู่การรวมประเทศเยอรมันนีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยใน ค.ศ. 1990

สงครามโลกครั้งที่ 2


สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II)

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1939-1945 มีระยะเวลา 6 ปี สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสรุปมีดังนี้

1) ความไม่พอใจของฝ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีต่อข้อตกลงสันติภาพหลังสงครามครั้งนั้น โดยเฉพาะสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ที่ทำให้เยอรมนีไม่พอใจเพราะมุ่งลงโทษเยอรมนี ยังส่งผลให้เยอรมนีใช้เป็นข้ออ้างในการก่อการสงคราม

2) นโยบายสร้างชาติภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จของ 3 ชาติ คืออิตาลี มีลัทธิฟาสซิสต์เป็นหลักในการปกครอง ส่วนเยอรมนีใช้ลัทธินาซี และญี่ปุ่นมีลัทธิการทหารเป็นแกนหลัก กอปรกับนโยบายลัทธิชาตินิยมของทั้ง 3 ชาติ กล่าวคือ ญี่ปุ่นนำคำสอนทางศาสนาชินโตมาชี้นำ อิตาลีมุ่งหวังจะสร้างประเทศให้ยิ่งใหญ่เหมือนสมัยจักรวรรดิโรมัน ส่วนเยอรมนีพยายามใช้นโยบาย“เชื้อชาติอารยันที่ยิงใหญ่” มากระตุ้นความรู้สึกของคนในชาติว่ามีศักดิ์ศรีเหนือเผ่าพันธุ์อื่น

3) ความไม่พอใจของฝ่ายอักษะ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ต่อสถานภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้น คือ ไม่มีดินแดนจะขยาย ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเพียงพอเหมือนมหาอำนาจอื่นๆ จึงจำเป็นต้องแสวงหาเมืองขึ้นโดยใช้สงครามเป็นเครื่องมือ

4) ความล้มเหลวของสันนิบาตชาติ ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

5) สาเหตุปัจจุบันที่เป็นชนวนระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ การที่เยอรมนี ยกกองทัพบุกโปแลนด์ ซึ่งมหาอำนาจตะวันตก คือ อังกฤษและฝรั่งเศสได้ลงนามในสัญญาค้ำประกันอธิปไตยไว้ อังกฤษและฝรั่งเศสยื่นคำขอให้เยอรมนีถอนทหารออกจากโปแลนด์ เมื่อ ฮิตเลอร์ไม่ปฏิบัติตาม ทั้งสองประเทศจึงประกาศสงครามกับเยอรมนี เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเริ่มขึ้นนับแต่นั้น

ผลของสงครามโลกครั้งที่ 2

ก่อให้เกิดผลลบทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก คือ ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ประเทศคู่สงคราม ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ความสูญเสียนั้นมากมายกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ประมาณการว่าค่าใช้จ่ายทางทหารมากกว่า 1,100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเสียหายทางด้านทรัพย์สินกว่า 230,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประเทศที่เข้าร่วมสงคราม ส่วนใหญ่ต่างต้องเผชิญปัญหาทางด้านเศรษฐกิจภายหลังสงครามสงบแล้ว เว้นแต่สหรัฐอเมริกามิได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจมากนัก และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีกำลังทางเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังเกิดการแข่งขันกันทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่าง สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต จนกลายเป็นสงครามที่ทั่วโลกรับรู้ว่า สงครามเย็น


วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สงครามโลกครั้งที่ 1


สงครามโลกครั้งที่ 1

เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1914-1918 มีระยะเวลา 4 ปี เป็นสงครามครั้งแรกของมนุษยชาติที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมการสู้รบจาก ทุกทวีป และนับว่าเป็นความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งเท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์โลก สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสรุปมีดังนี้

1) การแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมและขยายอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจในดินแดนต่างๆ ทำให้เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจกันอย่างต่อเนื่อง ตลอดมา

2) ขบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในยุโรปและขยายตัวอย่างรวดเร็วในอิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฮังการี บางครั้งมีการนำเอาลัทธิชาตินิยมไปใช้ในทางที่ผิด จนกลายเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างประเทศ

3) การรวมกลุ่มเพื่อสร้างพันธะมิตรของประเทศมหาอำนาจ โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน และเผชิญหน้ากับกลุ่มอื่นที่มีผลประโยชน์ขัดกับตน

4) การแข่งขันกันในด้านการเริมสร้างแสนยานุภาพทางทหาร ทำให้เกิดความหวาดระแวงและความตึงเครียดระหว่างประเทศ

5) สาเหตุที่เป็นชนวนของสงคราม เกิดจากการที่กลุ่มชาตินิยมในเซอร์เบียต่อต้านการแทรกแซงของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และต้องการสร้างรัฐเซอร์เบียให้เข้มแข้งยิ่งใหญ่ จึงยังผลให้ชาวเซอร์เบียผู้หนึ่งลอบปลงพระชนม์มกุฎราชกุมารของออสเตรีย-ฮังการี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1914 ณ เมืองซาราเยโว ซึ่งเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ออสเตรียประกาศสงคราม กับเซอร์เบีย

ขอบเขตของสงครามครั้งนี้แผ่ขยายกว้างขวางครอบคลุมทั่วโลก เพราะคู่สงครามหลายประเทศเป็นจักรวรรดินิยม มีอาณานิคมอยู่ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ประเทศคู่สงครามต่างถือว่าอาณานิคมเป็นดินแดนศัตรูที่ตนมีสิทธิ์โจมตี และเข้ายึดครองได้ สมรภูมิการสู้รบส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณแนวรบด้านตะวันตก และด้านตะวันออกของเยอรมนี ในช่วงแรกของการสู้รบฝ่ายมหาอำนาจเป็นฝ่ายได้เปรียบประสบชัยชนะในหลายสมรภูมิ อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมนี เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 พร้อมส่งกำลังพลเกือบ 5 ล้านคน เข้าร่วมกับกองทัพสัมพันธมิตร ยังผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมาได้เปรียบ ในที่สุดมหาอำนาจกลางจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และยอมสงบศึก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918


การฟื้นฟูและการค้นพบทวีปยุโรป


การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ( Re naissance)

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16 เป็นสมัยที่มีการหันกลับไปศึกษาภูมิปัญญาสมัยกรีก – โรมัน จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการอยู่ในดินแดนอิตาลี แถบรัฐฟลอเรนส์ เจนัว ปิซ่า และเวนิส การฟื้นฟูศิลปวิทยาการแผ่กระจายจากอิตาลีไปยังตอนเหนือของยุโรป ภายหลังสงครามครูเสด ผู้คนเริ่มเปิดกว้างทางความคิดหลังจากที่ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวต่างๆ ในโลก การฟื้นฟูความรู้ของกรีกและโรมันทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แบบใหม่ ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ เครื่องปั่นฝ้าย เครื่องสีข้าว เข็มทิศ กระสุนปืน มีการศึกษาด้านการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของสมัยนี้ คือ นิโคลัส คอเปอร์นิคุส ซึ่งกล่าวว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นการปูทางไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16

การค้นพบโลกใหม่

ราวปลายคริสต์วรรษที่ 15 การขยายตัวของการค้าในยุโรป ประสบอุปสรรคต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสรรคอันเกิดจาก การที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอันมากมาย การเดินทางค้าขายกับตะวันออก โดยเฉพาะอย่างอย่างเมื่อชาวมุสลิมเป็นตัวกลางคอยเก็บผลประโยชน์ จากการใช้เส้นทางการค้า ระหว่างยุโรปกับดินแดนตะวันออก อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือเรื่องของ เงินและทองคำที่ใช้เป็นทุนสำรองในการแลกเปลี่ยน ไม่พอเพียง บรรดากลุ่มพ่อค้า นายทุน จึงต้องเร่งงหาหนทางต่างๆในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การพยายามค้นหาเส้นทางการค้าสายใหม่ และบริเวณดินแดนใหม่ที่ประกอบไปด้วยทรัพยากรต่างๆที่จะตอบสนองความต้องวงการดังกล่าวจึงเกิดขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ ที่เริ่มปรากฏการออกสำรวจทางทะเลอย่างมากของนักเดินเรือชาวยุโรป ออกเดินเรืออย่างห้าวหาญ การออกสำรวจในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจาก กระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ใหม่ๆหลังการล่มสลายของแนวคิดแบบ คริสต์ศาสนา การเผยแพร่องค์ความรู้สมัยใหม่ที่แพร่ขยายไปทั่วภาคพื้นยุโรป ล้านแต่เป็นรากฐานของการเดินทางสำรวจดินแดนโพ้นทะเล ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดสภาพที่ชนชาวยุโรปเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก ในช่วงระยะเวลาต่อมา เช่น การล่าอาณานิคม กระบวนการทางการค้าของโลกที่เชื่อมเข้าหากัน การอพยพโยกย้ายของผู้คน การปฏิวัติอุตสาหกรรม ลัทธิจักรวรรดินิยม รวมถึงสงครามโลก ดังนั้นภาพของการการสำรวจทางทะเลจึงเป็นจุดเริ่มที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งของ

โลกสมัยใหม่

การเดินทางสำรวจของนักสำรวจต่างๆที่สำคัญในยุโรป อาทิ แมคเจนแลน โคลัมบัส ล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก บรรดา กษัตริย์และราชินี ของรัฐชาติต่างๆในยุโรป ได้แก้ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ โดยเฉพาะ พระราชินี อิสซาเบลล่า แห่งสเปน ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าว สเปนถือเป็นเจ้าอาณานิคมทางทะเล หลังจากสามารถครอบครองดินแดนในบริเวณทวีปอเมริกาใต้ได้ ด้วยปัจจัยของการพยายามขจัดอิทธิพลของมุสลิม และชาวเวนิสออกไปจากผลประโยชน์ทางการค้า เรื่องต่อมา คือการนำเอาคริสต์ศาสนาไปเผยแพร่ยังดินแดนต่างๆ

หลังจากการล่มสลายของระบบศักดินาสวามิภักดิ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลายดินแดนในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และโปตุเกส ก็ประสบความสำเร็จในการรวมกันเป็นปึกแผ่นเป็นรัฐชาติ (Nation State) ซึ่งรัฐชาติ หมายถึง รัฐที่มีการปกครองเป็นปึกแผ่น มีอาณาเขตที่แน่นอน ประชาชนมีเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบเดียวกัน ปัจจัยสำคัญในการก่อเกิดเป็นรัฐชาติ คือ ความรู้สึกชาตินิยม (Nationalism) ทำให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจ มีความจงรักภักดีต่อชาติ และพระมหากษัตริย์ของตนเอง รูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นในยุครัฐชาติ

การปฏิวัติอุตสาหกรรม ค.ศ. 18-19

ในช่วงระยะเวลานี้ ยุโรปได้นำโลกเข้าสู่วิถีการผลิตแบบใหม่ มนุษย์เราละทิ้งรูปแบบการผลิตแบบเดิมลงไปคือในภาคเกษตร การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งในการเป็นอยู่ของผ็คนในหลายๆด้าน และการเปลี่ยนแปลบลงดังกล่าวนำมาซึ่งการแสวงหาความมั่งคั่งให้กับรัฐต่างๆที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ผ่านมา จนเป็นผลที่ทำให้เกิดกระบวนการแย่งชิงทรัพยากร ตลาด และการแข่งขันทางด้านแสนยานุภาพซึ่งในท้ายที่สุดผลพวงดังกล่าวนำมาสู่การระเบิดขึ้นของสงครามครั้งใหญ่ที่มนุษย์เคยประสบมา ในท้ายสุดช่วงปลายศตวรรษทำให้ดุลย์อำนาจ ในการเป็นศูนย์กลางของโลก ต้องเปลี่ยนมือไปอยู่ในการหมุนของสหรัฐอเมริกา








ยุโรป สมัยใหม่

ยุโรป สมัยใหม่

ในช่วงประมาณ ปี ค.ศ. 1300- 1600 ได้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในประเทศตะวันตก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกังกล่าวนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง การเปลี่ยนแปลงทางความคิด วิถีชีวิตของผู้คนในตะวันตก ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นส่วนหสึ่งที่ทำให้ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจของโลกในช่วงเวลาต่อๆมา

ก่อนที่ประวัติศาสตร์จะก้าวไปสู่สมัยใหม่ มีพัฒนาการสำคัญที่เป็นจุดเชื่อมโยงจากสมัยกลางไปสู่สมัยใหม่ได้แก่ รัฐชาติ (Nation-state กระบวนการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) และกระบวนการปฏิรูปศาสนา (Reformation)ในขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปสู่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เริ่มปรากฏเป็นรูปร่างชัดเจนในยุโรป จากยุคการสำรวจทางทะเล (Age of Exploration) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่เรียกว่า ลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ซึ่งทำให้เกิดระบบทุนนิยม (Capitalism) การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ประเทศอุตสาหกรรมพากันแสวงหาอาณานิคม และเกิดมีอุดมการณ์ทางการเมืองหลายรูปแบบ การขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมทำให้ประเทศตะวันตกแข่งขันกันสร้างแสนยานุภาพ ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มระหว่างประเทศและการเผชิญหน้ากันจนเกิดเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงนี้เองที่พัฒนาการในยุโรปเริ่มมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อภายนอกทวีป กล่าวคือ ยุโรป เริ่มหันออกไปยังดินแดนภายนอกทวีป เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับรัฐชาติที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ภายใต้เพดานทางความคิด ( concept) เรื่องของลัทธิชาตินิยมที่แพร่ขยายไปทั่วยุโรป เกิดกระบวนการล่าอาณษนิคมขึ้นทำให้ยุโรปเริ่มเป็นผู้กำหนดบทบาท และทิศทางต่างๆของโลก เรื่อยมาจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บทบาทผู้นำโลกเกิดมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอเมริกา


สงครามครูเสด

สงครามครูเสด ( Crusade war)


จุดเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ทำให้ยุคกลางซึ่งมีอิทธิพลเหนือ ยุโรป เป็นระยะเวลากว่า 1,000 ปีต้องล่มสลายลงไป ก็เนื่องจากพลังของสงครามศาสนาที่เริ่มเกิดขึ้นผลของสงครามครูเสดนี่เองที่เป็นผลให้ความเชื่อในคริสต์ศษสนาเริ่มเสื่อมลง ผู้คนเริ่มหมดศรัทธาจาก ศาสนจักร เริ่มมีการเห็นวิทยาการใหม่ๆจากโลกมุสลิมทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนสังคมยุโรปให้ก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ขนานใหญ่ในเวลาต่อมา


สงครามครูเสด หรือ สงครามไม้กางเขน เป็นสงครามทางศาสนาระหว่างพวกคริสเตียนและพวกมุสลิม ระหว่าง ค.ศ.1096–1291 สาเหตุของสงครามเกิดจากการที่พวกคริสเตียนที่ต้องการจาริกแสวงบุญไปยังเมืองเยรูซาเล็ม (Jerusalem) ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระเยซูและเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาคริสต์ ถูกรบกวนจากพวกเร่ร่อนเผ่าเซลจุค เตอร์ก (Seljuk Turks) ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม คอยขัดขวางไม่ให้ชาวคริสต์เดินทางไปยังเมืองเยรูซาเล็ม ชาวคริสต์ได้ร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากสันตะปาปาที่กรุงโรม สันตะปาปาและชาวยุโรปในสมัยนั้นเห็นว่า การยึดครองเมืองเยรูซาเล็มจะทำให้ได้อาณาจักรของคริสต์ศาสนามาเป็นของตน จึงชักชวนให้ชาวคริสต์จับอาวุธทำสงครามปราบพวกเตอร์ก ซึ่งดูถูกศาสนาคริสต์และข่มเหงชาวคริสต์ โดยให้ถือว่าการเดินทางไปทำสงครามศาสนาเป็นการไถ่บาปและจะได้ขึ้นสวรรค์ การทำสงครามครั้งนี้ถือว่าเป็นเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า


สงครามครูเสดก่อให้เกิดผลหลายประการต่อยุโรป ในด้านการทหาร ถือว่าเป็นความล้มเหลวของชาวคริสต์ เพราะไม่สามารถขับไล่พวกมุสลิมออกไปจากดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการฟื้นฟูการค้าในยุโรป เกิดมีเมืองใหญ่ และธนาคาร ผลทางสังคม ทำให้ระบบฟิวดัลเสื่อมลง พวกทาสได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ทางด้านศาสนา ทำให้คนเสื่อมศรัทธาในศาสนา สันตะปาปามีชื่อเสียงลดลง ในทางการเมือง ทำให้กษัตริย์กลับขึ้นมามีอำนาจใหม่ และทางด้านวิทยาการ ทำให้ชาวยุโรปได้รับความรู้ใหม่ ๆ จากโลกตะวันออก และทำให้เกิดการฟื้นฟูศิลปวิทยาการในเวลาต่อมา กล่าวโดยสรุป สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของยุโรปเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

อารยธรรมโลกสมัยกลาง



อารยธรรมโลกสมัยกลาง (The Middle Ages)

หรือยุคมืด โลกสมัยกลางอยู่ในช่วงระยะเวลา 1,000 ปี ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 15 หลังจากที่จักรวรรดิโรมันต้องเสื่อมสลายลง เนื่องจากการรุกรานของอนารยชนเผ่าเยอรมันในปีค.ศ. 476

บริบทโดยทั่วๆไปของยุคกลางจะพบว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดความไม่แน่นอน ระส่ำระสายเพราะเป็นช่วงระยะเวลาที่บริเวณต่างๆที่เคยขึ้นกับจักรวรรดิโรมันเริ่มมีสิทธิในการดูแลตนเองจากการล่มสลายของโรมัน เมืองต่างๆในยุโรปจึงเริ่มมีการสู้รบเพื่อแย่งชิงดินแดนภายในยุโรปมากขึ้น ประวัติศาสต์สมัยกลางเป็นการเชื่อมต่อระหว่างอารยธรรมโบราณและสมัยใหม่มนุษย์ในสมัยกลางมีทัศนคติและจุดมุ่งหมายในชีวิตผิด ไปจากมนุษยสมัยคลาสสิก (สมัยกรีกและโรมัน) อย่างเห็นได้ชัดเจน ความสนใจของมนุษย์ในสมัยกลางหันไปสู่จุดมุ่งหมายทางคริสต์ ซึ่งขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วงจักรวรรดิโรมัน ซึ่งเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมันในสมัยพระจักรพรรดิ เกรเลี่ยน เป็นผลให้อิทธิพลของศาสนจักรเริ่มมีการสืบทอดและอำนาจของบาทหลวงเริ่มมีมากขึ้นด้วยนอกจากนี้ ศาสนจักรเป็นผู้ชี้โชคชะตาและอนาคตของมนุษย์

ทั้งนี้เพราะ ชั่วชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย อยู่ภายใต้การดูแลของศาสนจักร มนุษย์จึงดำเนินชีวิตตามทางที่ศาสนจักร กำหนดคนที่คิดนอกเหนือไปจากคำสอนในคัมภร์ไบเบิ้ลหรือแนวสอนของศาสนจักรจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต เป็นแม่มด พ่อมด มีมาตราการลงโทษเช่นการเผาทั้งเป็น และการทรมานต่างๆ ดังนั้นงานสร้างสรรค์อันเป็นมรดกของสมัยกลางจึงแตกต่างไปจากสมัยกรีก – โรมัน มีคำถามที่ตามมาว่า ทำไมคนในยุคกลางจึงเชื่อมั่นในคริสต์ศาสนาอย่างมาก อะไรเป็นแรงจูงใจ อาจพอสรุปได้ว่า การจัดการภายในของศาสนจักรมีรูปแบบที่แน่นอน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเป็นระเบียบวินัย สวามารถดำเนินงานต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ ตามความเชื่อขิองคริสต์ศาสนเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนถือกำเนิดขึ้นพร้อมมีความบาปที่ติดตัว จึงเป็นหน้าที่ของพระเยซูและศานุศิษย์ จะต้องเป็นผู้ที่คอยไถ่บาป เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับพระเจ้า ดังนั้นศาสนจักรจึงเข้ามามีบทบาทในการดำเนินวัตถุประสงค์ดังกล่าว

ด้วยอิทธิพลของคริสต์ศาสนาที่ปกครองไปทั่วยุโรป เป็นผลให้ในระยะเวลาดังกล่าว ทั่วยุโรปแทบจะเป็นภาพนิ่ง รูปแบบการดำรงชีวิตจะเป็นไปในการทำมาหากินภายในแมนเนอร์ของตนเท่านั้น กระบวนการการค้าที่เคยเฟื่องฟูในช่วงจักรวรรดิโรมันมีปริมาณลดลงแต่มิได้หมายความว่าในภาคการผลิตจะไม่ปรากฏแต่ภาพใต้เงื้อมมือแห่งศาสนจักร รูปแบบทางการผลิตในยุคกลางกลับมีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ

การเกษตรในยุคกลางส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการภายใต้ระบบแมนเนอร์( Mannor) ระบบนี้ได้พยายามทำให้การจัดระบบการผลิตแบบเลี้ยงตัวเองเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดในยุคกลางแมนเนอร์แต่ละแมนนอร์ จะมีความห่างไกลกันมาก ดังนั้น ผู้คนที่อยู่ในแต่ละแมนเนอร์ จะมีความผูกพันกับที่ดินและมีความพยายามที่จะทำให้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ระะบบคฤหาสน์หรือ แมนเนอร์ จึงเป็นสถาบันหลักในการจัดการนำปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือ คือ แรงงานและที่ดิน เข้ามาใช้ในการผลิต ซึ่งที่ดินถูกถือครองโดยชนชั้นเจ้านายหรือขุนนางเป็นลำดับขั้น อยู่ภายใต้ระบบการถือครองที่ดินที่เรียกว่า ระบบศักดินา ( feudalism) ที่ผู้คนจะทำงานร่วมกันเพื่อหาเลี้ยงชีพจากที่ผืนเดียวกัน เลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าเดียวกัน จับปลาในแหล่งน้ำเดียวกัน จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับชนชั้นเจ้านายเดียวกัน เจ้าของแมนเนอร์จะแบ่งสรรที่ดิน ออกเป็นสัดส่วน เพื่อเป็นการใช้เพาะปลูกตามฤดูกาลเป็นส่วนของเจ้าของแมนเนอร์เองบ้าง แบ่งให้ผู้อื่นเช่าทำบ้าง

อารยธรรมอิสลาม

ศาสนาอิสลามถือกำเนิดในคาบสมุทรอาหรับในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยมีพระมุฮัมหมัด (ค.ศ.570 – 632) เป็นผู้ประกาศศาสนา ก่อนเกิดศาสนาอิสลาม ชาวอาหรับนับถือ เทพเจ้าหลายองค์ รวมทั้งนับถือธรรมชาติแวดล้อม เช่น น้ำพุ ต้นไม้ และหิน เป็นต้น ปูชนียสถานที่ชาวอาหรับพากันเดินทางมาสักการะเป็นประจำทุกปี คือ วิหารกาบา ในเมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหินศักดิ์สิทธิ์สีดำ คาบสมุทรอาหรับเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างจักรวรรดิไบแซนไตน์กับประเทศต่างๆ ทางแถบมหาสมุทรอินเดีย

ชาวอาหรับได้รวมตัวกันเป็นชาติอิสลามที่ตั้งอยู่บนรากฐานความผูกพันทางศาสนา คำสอนสั้นๆ ของพระมุฮัมหมัดที่ว่า “มุสลิม ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” มีความสำคัญในการรวมชาติ รวมพลัง ยุติความแตกแยกระหว่างเผ่า รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ชาติและศาสนาอิสลาม นอกจากเป็นแรงดึงดูดในการรวมชาติแล้ว ศาสนาอิสลามยังเป็นแรงจูงใจ ของกองทัพมุสลิมที่จะออกทำสงครามขยายอำนาจไปยังดินแดนต่างๆ เพราะชาวมุสลิมเชื่อในคำสอนที่ว่า “รบและเสียชีวิตเพื่อศาสนาจะได้เสวยสุขบนสวรรค์ในชาติหน้า” ดังนั้น ภายในศตวรรษเดียว กองทัพมุสลิมก็สามารถสร้างจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ ตั้งแต่เทือกเขา พีเรนีส์ในประเทศสเปน และแอฟริกาเหนือ อียิปต์ ดินแดนต่างๆ ในตะวันออกกลางตลอดเรื่อยมาจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย

การขยายตัวของอิสลาม

คือ การรวมเอาชนชาติที่มีความเจริญมาก่อนเข้าไว้ในจักรวรรดิ เป็นการรวมเอาวัฒนธรรมที่เด่นๆ ของโลกมารวมไว้ในสังคมเดียวกัน ที่ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาร่วม วัฒนธรรมดังกล่าว คือ วัฒนธรรมกรีก – โรมัน เปอร์เซีย บาบิโลเนีย อียิปต์ ยิว อินเดีย วัฒนธรรมของชนเผ่าเยอรมัน และวัฒนธรรมอาหรับ และจากบรรดาวัฒนธรรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้ วัฒนธรรมใหญ่ก็ถือกำเนิดขึ้นมา คือ วัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งยังคงรักษาบางสิ่งบางอย่างของขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเดิมไว้ ความรุ่งโรจน์ทางวัฒนธรรมของอิสลามมาจากความสามารถในการรับเอาส่วนที่ดีที่สุดของวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโลกอิสลาม มาใช้ การศึกษาและแปลงานอมตะของกรีกเป็นภาษาอาหรับก็ดี การแปลงานจากภาษาสันสกฤตก็ดี ทำให้นักศึกษาอาหรับได้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาและวิทยาการแขนงต่างๆ ของกรีกและอินเดีย ซึ่งเป็นรากฐานของความเจริญงอกงามของวิทยาการอิสลาม ความสำเร็จในด้านศิลปวิทยาการของอิสลามได้มาจากอาหรับ แต่มาจากชนชาติอื่นๆ ที่มีความเจริญมานานแล้วในเปอร์เซีย ซีเรีย เมโสโปเตเมีย อียิปต์ และสเปน ในบรรดาวิทยาการของอิสลาม วิทยาศาสตร์และปรัชญามีความก้าวหน้ามากที่สุด กล่าวโดยสรุป มุสลิมเป็นสะพานเชื่อมอารยธรรมตะวันตกและตะวันออกให้ประสานกันอยู่เป็นเวลาหลาร้อยปี พวกพ่อค้ามุสลิมได้นำความเจริญเผยแพร่ไปยังยุโรปและเอเชีย

อารยธรรมธรรมคลาสสิค



อารยธรรมธรรมคลาสสิค

ที่กล่าวเช่นนี้ ด้วยเหตุที่ว่า อารยธรรมที่จะกล่าวถึงต่อไปเป็นรูปแบบของอารยธรรมที่เป็นรากฐาน วิธีคิด พื้นฐานการดำรงชีวิต ของผู้คน และรัฐต่างๆในยุโรป ซึ่งอารยธรรมเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของความเจริญ ที่เกิดขึ้นในยุโรป อารยธรรมเหล่านี้เป็นตัวหล่อหลอมแนวคิด การเป็นอยู่ของผู้คนใน ยุโรป เป็นรากฐานแห่งอารยธรรมตะวันตก ได้แก่ อารยธรรม กรีก และโรมัน

อารยธรรมกรีก (Greek Civilization)

ได้แก่ อารยธรรมของนครรัฐกรีก ซึ่งเจริญขึ้นบนผืนแผ่นดินกรีซในทวีปยุโรป และบริเวณชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านเอเชียไมเนอร์ เริ่มขึ้นเมื่อปี 1,500 ก่อนคริสตกาล อารยธรรมที่เจริญขึ้นในนครรัฐกรีกมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่นครรัฐเอเธนส์ (Athens) และนครรัฐสปาร์ตา (Sparta) นครรัฐเอเธนส์เป็นแหล่งความเจริญในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ วิทยาการด้าน ต่างๆและปรัชญา ส่วนนครรัฐสปาร์ตาเจริญในลักษณะที่เป็นรัฐทหารในรูปเผด็จการ มีความแข็งแกร่งและเกรียงไกร เป็นผู้นำของนครรัฐอื่นๆ ในแง่ความมีระเบียบวินัย กล้าหาญและเด็ดเดี่ยวในการสู้รบ

อารยธรรมโรมัน (Roman Civilization)

เกิดขึ้นบนคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งทอดยาวไปยังตอนกลางของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในระยะเวลาใกล้เคียงกับอารยธรรมกรีก แต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากกรีก กล่าวคือ ในขณะที่กรีก เน้นความสำคัญของปัจเจกบุคคล เป็นนักคิด บูชาเหตุผล และมีจินตนาการสูง แต่โรมันเป็นนักปฏิบัติ ชาวโรมันจะเน้นความจงรักภักดีต่อครอบครัว ประเทศและเทพเจ้า ชาวโรมันเคารพกฎหมายและระเบียบวินัย ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดในการปกครอง โรมเจริญรุ่งเรืองขึ้นจากนครรัฐเล็กๆ บนฝั่งแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber) ต่อมากลายเป็นสมาพันธรัฐอิตาลีที่มีโรมเป็นผู้นำ และในที่สุดกลายเป็นจัรกวรรดิที่มีอำนาจเหนือดินแดนทั้งปวงโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

สมัยประวัติศาสตร์














สมัยประวัติศาสตร์

มนุษย์ เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ เมื่อเริ่มรู้จักประดิษฐ์ตัวอักษร ทำให้ปรากฏหลักฐานต่างๆในการศึกษาร่องรอยอารายธรรมต่างๆในอดีต ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ วิถี ความเชื่อ ความเป็นอยู่เริ่มมีแบบแผนที่ชัดเจนขึ้น อารยธรรมต่างๆ ที่ปรากฏส่วนหนึ่ง สืบทอดแบบแผนมาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ แล้วมีการนำมาปรับใช้ ในช่วงระยะเวลาสมัยประวัติศาสตร์นี้ จะเห็นว่า อารยธรรมของมนุษย์ที่สร้างขึ้นล้วนแต่เป็นรากฐานของอารยธรรมรุ่นต่อมาๆ ในระยะเวลาดังกล่าวนี้พอจะสังเขป อารายธรรมที่เกิดขึ้นในระยะเวลาดังกล่าวได้ดังนี้
อารยธรรมลุ่มน้ำ

ตามลุ่มน้ำต่างๆที่ดังจะกล่าวต่อไป เป็นแหล่งก่อเกิด สายธารแห่งอารยธรรมของมนุษย์ ที่มีการสั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อแหล่ง อารายธรรมตามลุ่มน้ำเสื่อมสลายลงไปอาจด้วยปัจจัยตามกาลเวลา หรือทางการเมือง แต่ร่องรอยของอารายธรรมลุ่มน้ำกลับมิได้เสื่อมสลายลงไปด้วย แต่ยังคงปรากฏคติ ความเชื่อ ถ่ายทอดให้กับมนุษย์ในรุ่นต่อมาๆ ได้แก่

อารยธรรมลุ่มน้ำไทรกรีส – ยูเฟรติส

อารยธรรมลุ่มน้ำไทกรีส –ยูเฟรติส หรือที่เราเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia civilization) ดังปรากฏตามที่ชาวกรีก เรียกว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำ ( Mavin Perry, 1981 : 8) ซึ่งกคือ แม่น้ำไทกรีส และแม่น้ำยูเฟรติส เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนรูปครึ่งวงกลมผืนใหญ่ ซึ่งทอดโค้งขึ้นไปจากฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอ่าวเปอร์เซีย เรียกว่า “ดินแดนรูปพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์” (Fertile Crescent) ปัจจุบัน คือ ประเทศอิรัก กลุ่มชนที่สร้างอารยธรรมให้แก่ เมโสโปเตเมีย คือ ชาวสุเมเรียน (Sumerians) ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมโสโปเตเมียเมื่อ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อ 6,000 ปีมานี้ และกลุ่มชนที่อยู่ต่อมา คือ ชาวอัคคาเดียน (Akkadians) ชาวอามอไรต์ (Amorites) ชาวอัสซีเรียน (Assyrians) และชาวแคลเดียน (Chaldeans) เป็นต้น

อารยธรรมอียิปต์ (Egypt Civilization)

เกิดขึ้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์แห่งเดียวในทวีปแอฟริกา รากฐานของอารยธรรมอียิปต์ ก่อเกิดมาจากลุ่มน้ำไนล์อันน้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชาวอียิปต์ทั้งมวล ( Raymond Grew , 1979 : 13) ข้อมูลของอียิปต์อ่านได้จากจารึกตามเสาวิหาร ด้วยตัวอักษรภาพ ที่เรียกว่า ตัวอักษร เฮียโรกลิฟิก (hieroglyphics) และการบันทึกเรื่องราวบนกระดาษปาปิรุส (papyrus) มีกษัตริย์หรือฟาโรห์ (Pharoah) เป็นผู้ปกครอง ในสมัยราชอาณาจักรอียิปต์

อารยธรรมอินเดีย (Indian Civilization)

เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ จึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Civilization) อารยธรรมอินเดียถือเป็นแม่แบบของอาณาจักรต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ทวารวดี ล้านนา ล้านช้าง พระนคร เป็นต้น การขุดค้นทางด้านโบราณคดี ได้พบซากเมืองฮารัปปา (Harappa) และเมือง โมเฮนโจดาโร (Mohenjo-Daro) อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุประกอบด้วย ชนพื้นเมืองที่เรียกว่า พวกดราวิเดียน (Dravidians) ภายหลังจึงมีชนชาติอารยันซึ่งเป็นพวกอินโดยุโรเปียน อพยพจากแถบทะเลสาบแคสเปียน เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุเมื่อปี 1,500 ก่อนคริสตกาล ชนกลุ่มนี้มีประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อถือ และระเบียบแบบแผนการปกครองของตนเอง อารยธรรมของพวกอารยันบางส่วนถูกผสมผสานเข้ากับอารยธรรมดั้งเดิมของดราวิเดียน แต่อาจสรุปได้ว่า อารยธรรมอารยันเป็นพื้นฐานสำคัญของอารยธรรมมาจนถึงปัจจุบัน

อารยธรรมจีน (Chinese Civilization)

ถือกำเนิดขึ้นแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห เมื่อประมาณ 3,500 ปีมานี้ อารยธรรมจีนถือเป็นแม่แบบของอารยธรรมในเอเชียตะวันออกเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และดินแดนอื่นๆ จีนมีพัฒนาการของมนุษย์และวัฒนธรรมประเพณีต่อเนื่องมาไม่ขาดสาย ชาวจีนในปัจจุบันยังคงได้รับอิทธิพลความคิดและความเชื่อถือของสมัยโบราณ สังคมจีนเป็นสังคมที่เด่นในแง่ของการมีกฎ ระเบียบที่แน่ชัด มั่นคง ได้ชื่อว่าเป็นชาติที่เพียบพร้อมด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวจีนโบราณส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตและกรอบความคิดที่ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่กล้าท้าทายให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในสังคม โครงสร้างทางสังคมมีความมั่นคงและหยุดนิ่ง ตามความคิดและความเชื่อของชาวจีนเชื่อในเรื่องวิญญาณและสวรรค์ การบูชาบรรพบุรุษเป็นสิ่งสำคัญในอารยธรรมจีน ที่มีจุดเชื่อมโยงมาจากความเชื่อวิญญาณ สวรรค์ถูกโยงมาเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องจักรพรรดิที่มีคุณธรรมว่า ทรงเป็นโอรสแห่งสวรรค์ ( son of heaven) ที่ได้รับอาณัติจากสวรรค์(เทียนมิ่ง) ให้มาทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง นอกจากนี้ ชาวจีนยังมีความคิดเรื่องมูลธาตุดั้งเดิมของจักรวาล โดยเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ในสากลจักรวาลเกิดมาจากธาตุคู่ คือ ธาตุอ่อนกับธาตุแข็ง เรียกธาตุคู่นี้ว่า ยิ้น ซึ่งเป็นธาตุดินและเป็นธาตุอ่อน กับ หยาง ซึ่งเป็นธาตุฟ้าและเป็นธาตุแข็ง เมื่อธาตุทั้งสองนี้ผสมกันก็เกิดเป็นสิ่งต่างๆ ในจักรวาลขึ้น โลกและสิ่งต่าง ๆ ในโลกล้วนแต่เกิดมาจากมูลธาตุเดิมทั้งสองนี้ สิ่งต่าง ๆ ในโลกจึงมีลักษณะเป็นคู่ เช่น หญิงกับชาย ดีกับชั่ว เป็นต้น

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนับเป็นก้าวแรกของมนุษย์ ที่ได้มีการพยายามรวมกลุ่มกันทางสังคม เพื่อเป็นการ สร้างการเอาตัวรอด ในช่วงเวลาดังกล่าวชุมชนมนุษย์ยังรวมตัวกันไม่มากนักลักษณะทางสังคม และการปกครอง มีผู้นำชุมชน เป็นผู้ที่มีความแข็งแรง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ในสังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด ผู้นำที่เข้มแข็ง สามารถนำกลุ่มคนในการแสวงหาอาหาร การล่าสัตว์ จึงมีความสำคัญ ดังนั้น ผู้นำที่มีความแข็งแรง จึงมีความเหมาะสมสังคมแบบดังกล่าว

ในระยะเวลานี้ แม้มนุษย์จะยังอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง อาศัยอยู่ตามถ้ำ เชิงผาต่างๆ แต่ต่อมา เริ่มมีการตั้งที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งมากยิ่ง ขึ้น เช่น การรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน ตามแหล่งน้ำ และสร้างอารยธรรมในแบบของตนขึ้น เช่น เริ่มมีการปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์แทนการออกล่าสัตว์ ทำให้สามารถกะปริมาณอาหารในการหล่อเลี้ยงชุมชนได้ เมื่อมีการรวมกันเป็นหลักแหล่งแล้ว มนุษย์จึงเริ่มที่จะสร้างพิธีกรรมต่างๆเพื่อเป็นกระบวนการควบคุมทางสังคม และเพื่อการอยู่รอด เช่นการร้องขอฟ้าฝน หรือวิญญาณ บรรพบุรุษ ให้คุ้มครองชุมชน และประทานน้ำฝน เพื่อใช้หล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้ เราสมามารถแบ่งออกเป็นยุคต่างๆได้ดังนี้

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Pre-historic Age) หมายถึง ยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ ได้มีการแบ่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคย่อยๆ โดยพิจารณาจากประเภทของวัสดุและความสามารถในการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธเป็นเกณฑ์ ดังนี้

1. ยุคหินเก่า (Paleolithic or Old Stone Age) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2,000,000 – 8,000 ปีก่อนคริสตกาล มนุษย์ยุคนี้เป็นพวกเร่ร่อนล่าสัตว์ป่าเป็นอาหาร รู้จักทำเครื่องมือเครื่องใช้อย่างหยาบๆ ด้วยหิน ไม้ กระดูก และเขาสัตว์ อาศัยอยู่ตามถ้ำ อยู่กันเป็นครอบครัว เป็นระบบเครือญาติ ชุมชนอย่างแท้จริงยังไม่เกิดขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจแบบแสวงหาอาหารไม่เอื้ออำนวย องค์กรทางการเมืองการปกครองยังไม่เกิดมีขึ้น สังคมมีสภาพเป็นอนาธิปัตย์ ผู้ที่มีอำนาจคือผู้ที่มีความแข็งแรงมากกว่าคนอื่น

2. ยุคหินใหม่ (Neolithic or New Stone Age) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 8,000 – 4,000 ปี ก่อนคริสตกาล ในยุคนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ 4 ประการ คือ มีการคิดค้นการเพาะปลูกข้าวเป็นครั้งแรก เริ่มต้นการเลี้ยงสัตว์ รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผา และการประดิษฐ์อาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้จากหิน โดยขัดให้เรียบ สามารถใช้ประโยชน์ได้ง่ายและ มีประสิทธิภาพ พื้นฐานทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็น ผู้เสาะแสวงหาอาหาร (food-gatherer) มาเป็นผู้ผลิตอาหาร (food-producer) โดยพบหลักฐานว่ามีการเพาะปลูกข้าวเป็นครั้งแรกที่เมืองจาร์โม (Jarmo) ทางภาคเหนือของเมโสโปเตเมีย เมื่อประมาณ 6,750 ปีก่อนคริสตกาล มนุษย์เริ่มรู้จักการชลประทานอย่างง่ายๆ ทำอ่างเก็บน้ำ ทำนบกั้นน้ำ และพยายามเรียนรู้ที่จะควบคุมธรรมชาติ และแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติ การผลิตเครื่องปั้นดินเผาชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เริ่มสะสมอาหารไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภค เมื่อมนุษย์ยุคหินใหม่เปลี่ยนชีวิตจากการเป็นนักล่าสัตว์มาเป็นกสิกร วิถีการดำรงชีวิตก็เปลี่ยนจากการเร่ร่อนมาเป็นการตั้งหลักแหล่งอยู่กับที่ มีการสร้างบ้านเรือนอยู่อย่างถาวรในบริเวณที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จากครอบครัวหลายครอบครัวกลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ เกิดเป็นสังคมชนเผ่า (tribal societies) คนในสังคมจะมีภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมเดียวกัน และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ทำให้เกิดกฎหมายและกฎข้อบังคับในหมู่บ้านขึ้น มีหัวหน้าปกครอง หมู่บ้านกสิกรเหล่านี้เองคือชุมชนแห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นสังคมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานมา อยู่ที่เขตตะวันออกกลางแถบประเทศตุรกี ซีเรีย อิสราเอล อิรัก อิหร่าน และอียิปต์ ในปัจจุบันเมื่อชุมชนของมนุษย์มีขนาดใหญ่โตขึ้น ก็เกิดมีบ้านเมืองตามลุ่มแม่น้ำใหญ่ๆ พร้อมกับสร้างสรรค์อารยธรรมของตนขึ้นมา

3. ยุคโลหะหรือยุคสำริด (Metal Age) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,000 – 2,000 ปีก่อนคริสตกาล เริ่มจากมนุษย์รู้จักใช้ทองแดงและสำริดมาประกอบเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับ มนุษย์สมัยนี้พัฒนากิจกรรมการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านความเป็นอยู่ของสังคมและการเมืองอย่างมาก ได้เปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่จากชุมชนกสิกรรมขนาดใหญ่มาเป็นเมืองอย่างแท้จริง คือ เมืองเป็นศูนย์กลางของการกสิกรรม การปกครองและสังคมในเวลาเดียว ผู้ที่อยู่ในเมืองมิได้มีแต่พวกกสิกรเท่านั้น แต่ยังมีช่างฝีมือ นักรบ และพระผู้ทำหน้าที่ปกครองบริหารเมือง

ในยุคสำริด สังคมขยายตัวมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีคนที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันหลายด้าน เช่น พระทำหน้าที่เซ่นสรวงบูชา ติดต่อกับเทพเจ้าให้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชุมชน กษัตริย์ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง เป็นต้น โครงสร้างความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่เคยเป็นมาแต่เดิมจะเปลี่ยนไปเป็นโครงสร้างที่อาศัยอาชีพและตำแหน่งหน้าที่ เป็นเกณฑ์ในการกำหนดกลุ่มคนและความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งมักแบ่งออกได้ดังนี้ คือ ชนชั้นสูง ได้แก่ พระ ขุนนาง กษัตริย์ นักรบ ชนชั้นกลาง ได้แก่ พ่อค้า ช่างฝีมือ ชาวนา และชนชั้นต่ำ ได้แก่ ทาส การแบ่งงานและหน้าที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิต คือ แต่ละคนทำงานตามความถนัด ซึ่งจะได้งานมากขึ้นจนกลายเป็นส่วนเกินไว้แลกเปลี่ยน เกิดมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน มนุษย์สมัยนี้เริ่มรู้จักใช้ภาพสื่อความเข้าใจกัน เป็นต้นกำเนิดของการประดิษฐ์ตัวอักษร ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยไปสู่ยุคประวัติศาสตร์ มีการรวมกลุ่มเป็นชุมชนเมืองซึ่งจะพัฒนาไปสู่นครรัฐ มีการคิดค้นและใช้เทคโนโลยีง่ายๆ เช่น การใช้ลูกล้อในการขนส่งทางบกและในพลังงานจักรกล การใช้คันไถไม้ และเริ่มการเดินเรือ